ข่าวออนไลน์
หมายเหตุปลายด้ามขวาน โดยไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
ถ้าต้องการเห็นเมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จะเข้ามาแทนที่ “ไฟใต้” ศอ.บต.ต้อง อดทน และ ผู้นำประเทศต้องไม่ “ปากกล้า-ขาสั่น”

น่าสนใจสำหรับสถานการณ์ “ไฟใต้” ในเดือน “รอมฎอน” ปี 2563 นี้ เพราะเป็นปีแรกใน 16 ปี ที่ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น ไม่ได้ก่อเหตุร้ายในช่วง 30 วัน ของเดือน “รอมฎอน” รวมทั้งก่อนเดือน “รอมฎอน” และเชื่อว่า หลังเดือน “รอมฎอน” ก็น่าจะไม่มีเหตุร้าย ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ซึ่งถ้าสถานการณ์”ไฟใต้” ในเดือน “รอมฎอน”ปีนี้ สงบนิ่ง จะเป็นชี้ชัดว่า บีอาร์เอ็น เป็นขบวนการที่มีอำนาจที่แท้จริงในการ”บงการ” ให้มีการก่อการร้ายใน 16 ปีที่ผ่านมา และมีอำนาจในการ “สั่งการ” ให้”กองกำลัง” ในพื้นที่ หยุดการ ปฏิบัติการก่อการร้ายในห้วงเดือน “รอมฎอน”ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นี่ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี แต่เป็นเรื่องที่น่ากลัว สำหรับสถานการณ์ของ”ไฟใต้” ในการบงการ และกำกับดูแลของขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีที่มั่นอยู่ในรัฐฝ่ายค้านในประเทศมาเลเซียคือ กลันตัน และ ตรังตานู และแน่นอน ที่ขบวนการนี้ มีที่มั่นมานานหลายสิบปี เพราะมาเลเซียเป็นหลังพิงอันมั่นคง และ อบอุ่นให้กับขบวนการบีอาร์เอ็น
และที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ บัดนี้ นอกจากมาเลเซียจะเป็น”หลังพิง” อันมั่นคงแล้ว บีอาร์เอ็น ยังมี”ไอซีอาร์ซี” หรือหน่วยงาน “กาชาดสากล” และกลุ่ม”เจนีวา คอล” หน่วยงานสิทธิมนุษย์ชน และ สันติภาพสากล ในยูเอ็น ให้การ”หนุนเสริม ในนโยบายการการ”พูดคุย”สันติภาพ”กับรัฐไทย เพื่อการ แบ่งแยกดินแดน หรือ”เมอร์เดก้า” ที่เป็น”ธงนำ” ของบีอาร์เอ็น ในการปลุกระดมชนชาวมาลายู ในแผ่นดินปลายด้ามขวาน
โดยมี องค์กรภาคประชาชน องค์กรนักศึกษา และ เอ็นจีโอ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็น”ปีกทางการเมือง” ที่ขับเคลื่อนให้คนในพื้นที่เรียกร้องวิธีการ”กำหนดใจตนเอง” เพื่อการเรียกร้อง ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการปกครอง
บีอาร์เอ็น ถือโอกาสการเกิดโรคระบาด “โควิด19” เดิมเกมการเมืองอย่างชัดเจนด้วยการแถลงการณ์ต่อมวลชนประกาศ”หยุดยิง” เพื่อระดมสรรพกำลังในภาคประชาชน ช่วยเหลือชนชาวมาลายู ในพื้นที่หาคะแนนเสียงจากคนในพื้นที่ด้วยการไม่ก่อการร้ายเพื่อซ้ำเติมสถานการณ์ และฉวยโอกาส”ชี้นำ”มวลชน ด้วยการประณาม หน่วยงานความมั่นคง ที่ยังคงเดินหน้าในการ “ล้อมปราบ” แนวร่วมในพื้นที่
นี่คือความเปลี่ยนแปลงของบีอาร์เอ็น ที่หยุดการใช้อาวุธ และหันมาใช้วิธีการ”ไอโอ” ตามนโยบายการแสวงหามวลชน ที่ได้เรียนรู้จาก “เจนีวาคอล” และ”ไอซีอาร์ซี” เพื่อที่จะสร้างความ”สับสน” ให้กับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งถนัดในด้านการใช้”ยุทธวิธี” ทางทหาร แต่ไม่มีความเข้าใจในเรื่อง”การเมือง” เพราะ 16 ปี ที่ผ่านมา หน่วยงานความมั่นคง ใช้การทหารนำการเมืองมาโดยตลอด
และในขบวนการบีอาร์เอ็น ยังมี เอ็นจีโอ ปีกการเมือง ที่จับมือกับเอ็นจีโอกลุ่มต่างๆ เพื่อทำการคัดค้านการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะโครงการใหญ่ ที่มีผู้มี”ส่วนได้ส่วนเสีย” ทั้งประเทศมหาอำนาจ และประเทศเพื่อบ้าน ที่เป็นมิตรและเป็นพาทเนอร์ ของประเทศมหาอำนาจ
จับตาการต่อต้าน เมืองต้นเมือง ที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ให้ดี เพราะแม้ว่าในเบื้องต้น กลุ่มผู้นำชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการใช้พื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.จะนะ จ.สงขลา ในการทำโครงการเมืองต้นแบบ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในชื่อ ”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ซึ่งล่าสุด เอ็นจีโอ กลุ่มนี้ ใช้เด็กหญิงคนหนึ่ง เป็นเครื่องมือ ในการประท้วงให้ยุติโครงการ ด้วยการปักหลักนอนค้างที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อบีบให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) หยุดการทำเวทีเพื่อให้นักวิชาการ ได้พบกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อการลงรายละเอียดของโครงการให้ประชาชนได้รับรู้ และฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า คนในพื้นที่มีความเห็นอย่างไรกับการเกิดขึ้นของ “เมืองต้นแบบที่ 4 แห่งดินแดนปลายด้ามขวาน” จะสนับสนุน หรือคัดค้าน
แต่ เอ็นจีโอกลุ่มนี้ ไม่ต้องการเห็นเวทีนี้ ไม่ต้องการให้คนในพื้นที่ ซึ่งร้อยละ 90 ต้องการเห็นการพัฒนา ต้องการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ต้องการให้ลูก หลาน ที่เรียนจบแล้ว และตกงาน และต้องการที่จะให้ ลูก หลาน ที่ยังเรียนอยู่ มีงานทำในอนาคต ไม่มีโอกาสได้รับฟังรายละเอียดของจาก นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการ ใช้ “เด็ก” เพียงคนเดียวมากดดัน จนหน่วยงานผู้จัดเวทีต้อง เลื่อนการจัดเวที เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมออกไป เพราะไม่ต้องการให้สังคม เห็นภาพของความขัดแย้งเกิดขึ้น แม้ว่ากลุ่มคนที่”เห็นต่าง” จะมีแค่ ไม่กี่คนก็ตาม
ที่สำคัญ เอ็นจีโอ กลุ่มที่เป็น”แกนหลัก” ในการให้ความรู้แก่ชาวบ้านให้มองเพียง” เหรียญด้านเดียว” คือ กลุ่มที่นำชาวบ้านคัดค้านทุกโครงการ ตั้งแต่โรงแยกก๊าซไทย- มาเลเซีย ,โรงไฟฟ้าจะนะ-โรงไฟฟ้าชีวะมวล ในพื้นที่ และเป็นกลุ่มเอ็นจีโอ ที่ไม่เคยประสพความสำเร็จ เพราะทุกโครงการที่มีการนำชาวบ้านมาคัดค้าน ต่างก่อสร้างสำเร็จ และเป็น “คุณประโยชน์” กับประเทศ และประชาชน อยู่ในขณะนี้
ถามว่า ในสถานการณ์ของ”ไฟใต้” 16 ปี ถ้าไม่มีการเร่งพัฒนาให้มีโครงการขนาดใหญ่ ในลักษณะ”เมืองต้นแบบ” อย่าง”เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”ซึ่งเป็นการลงทุนอุตสาหกรรม”สีเขียว” ที่ไม่มีเรื่องของ”ปิโตรเคมี”เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง ศอ.บต. ใช้เวลาในการชี้แจ้งกับคนในพื้นที่มาแล้ว 18 เดือน มีการนำตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ไปดูงานทั้งในประเทศ ต่างประเทศ เพื่อให้เห็นถึงการบริหารจัดการ ถึงเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อสร้างความมั่นใจถึงการป้องกัน ในกรณีของการเกิดมลภาวะ
โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ เมืองแห่งอนาคต ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา อย่างไรก็ต้องเกิด เพราะเป็นหนทางในการสร้างงาน สร้างอนาคตให้กับภาคใต้ทั้งตอนล่างและตอนบน เป็นหลักประกันว่า คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เรียนจบ ปวช. ปวส. ปีละ 27,000 คน ต้องไม่ตกงาน เป็นหลักประกันของคนรุ่นใหม่ที่ต้องมีงานทำ เพื่อที่จะไม่”ว่างงาน” ต้องเดินทางไปหางานทำที่มาเลเซีย และ เป็น”เหยื่อ” บีอาร์เอ็น ถูกนำเข้าสู่ขบวนการแบ่งแยกดินแดน อย่างที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต และปัจจุบัน
ถ้า จะนะ มีท่าเรือน้ำลึก จะนะ จะกลายเป็น “เกตเวย์” แห่งที่ 3 เพื่อการส่งออก ประเทศที่เสียรายได้ทันทีคือ มาเลเซีย เพราะตู้คอนเทนเนอร์ จาก จ.สงขลาที่ถูกส่งไปยังท่าเรืองปีนัง ปีละ 500,000 ตู้ จะหายไปจากท่าเรือปีนัง และแม้แต่ประเทศสิงคโปร์ ก็จะได้รับผลกระทบจากโครงการ เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ เพราะเมืองต้นแบบแห่งอนาคตที่ จะนะ จะเป็น”อีอีซี” ของภาคใต้ตอนล่าง นั่นเอง
ดังนั้น การต่อต้าน เมืองต้นแบบที่ 4 จึง มีการวางแผนเดินเกมอย่างต่อเนื่อง โดยมี เอ็นจีโอกลุ่มเก่า ที่ คัดค้านทุกโครงการเป็นผู้นำ และมีกลุ่มผู้”เห็นต่าง”เพียงกลุ่มเดียวที่เคลื่อนไหว ตามเกมของ เอ็นจีโอ ด้วยการเคลื่อนไหวที่ต้องการส่งผลต่อ”ส่วนกลาง” เพราะรู้ดีว่าผู้นำประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ชอบการมีปัญหา และมีลักษณะ “ปากกล้า ขาสั่น” มาโดยตลอด ดังนั้น จึงเข้าทางของกลุ่มผู้คัดค้าน ซึ่ง ศอ.บต. ผู้ที่รัฐบาลสั่งการให้เป็น”เจ้าภาพ” ในการขับเคลื่อน โครงการเมืองต้นแบบ ต้องปรับยุทธวิธี ต้องใช้ความอดทน และที่สำคัญต้อง ทำความเข้าใจกับผู้นำประเทศ ให้เห็นถึงความจริง ต้องกล้าที่จะ”ตัดไฟแต่ต้นลม” เพื่ออย่าให้ บีอาร์เอ็น” ที่เป็น เอ็นจีโอ ในปีกการเมือง ในภาคประชาสังคม เข้ามาเชื่อมต่อ ร่วมคัดค้าน เพื่อให้ยุติ โครงการทั้งหมด
เพราะการไม่เกิดขึ้นของ เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต หรือ “อีอีซี”ภาคใต้ตอนล่าง หมายถึง ผลประโยชน์ในการ”ส่งออก” ทั้งหมดจากภาคใต้ อันเป็นผลประโยชน์ของท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซียจะหมดไป วันนี้ บีอาร์เอ็น อยู่ได้เพราะมาเลเซีย เป็น”หลังพิง” และการที่ บีอาร์เอ็น จะบรรลุถึงการ แบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ต้องได้รับการ”โอบอุ้ม” จากมาเลเซีย และที่สำคัญ มาเลเซียไม่ต้องการให้ภาคใต้มีความเจริญเติบโตเพื่อเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจ กับประเทศมาเลเซีย ทั้งหมดคือข้อมูลที่ทุกคนต้องรู้ เพื่อที่จะได้เข้าใจ และช่วยกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยกัน โดยที่ไม่เดินไปติด”กับดัก” ของ เอ็นจีโอ ทั้งหลาย
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. ซึ่งได้รับมอบภาระหน้าที่จากรัฐบาล ในการ ผลักดันโครงการเมืองต้นแบบ “มันคง มั่งคั่ง ยังยืน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นของรัฐบาล ศอ.บต. มีหน้าที่ สื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ รับฟังความคิดเห็น ความต้องการของประชาชน ศอ.บต. ต้องการให้ ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการ “ออกแบบร่วมกัน” ระหว่าง ประชาชน เอกชนผู้ลงทุน โดยรัฐเป็นผู้สนับสนุน ถ้าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย โครงการก็เดินหน้า ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ศอ.บต. มีหน้าที่นำความเห็นไปบอกให้กับรัฐบาลให้รับรู้ถึงความต้องการของประชาชน เพื่อการตัดสินใจ
ส่วนการรับฟังความคิดเห็น มีอยู่หลายวิธี ทั้งการเปิดเวทีในพื้นที่ การรับฟังผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การแสดงความคิดเห็นเป็นหนังสือ การสื่อสารสร้างความเข้าใจเป็นครัวเรือน โดยกลุ่มของนักวิชาการ และช่องทางอื่นๆ ซึ่ง ศอ.บต. จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด วันนี้ประชาชนฉลาด เข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง อยากที่จะมีการ “ชี้นำ” หรือ”หมกเม็ด” อย่างที่ แกนนำ ผู้เห็นต่าง พยายามสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้น