Site icon 77จังหวัด ประเทศไทย

มาเลเซียฉลอง อินฟินีออนเปิดโรงงานผลิตพาวเวอร์เซมิคอนดักเตอร์ใหญ่สุดในโลก

วันที่ 8 สิงหาคม 2024 นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า อินฟินีออน (Infineon) ผู้ผลิตชิปชั้นนำของยุโรปได้เริ่มดำเนินการผลิตโรงงานผลิตชิปที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย เป็นการตอกย้ำชัยชนะ ในความพยายามก้าวเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลกของมาเลเซีย

อินฟินีออนระบุว่าโรงงานในกูลิม (Kulim) แห่งนี้ เมื่อผลิตเต็มกำลังการผลิตได้ภายใน 5 ปีข้างหน้า จะเป็นโรงงานผลิตซิลิกอนคาร์ไบด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินฟินีออนเล็งเห็นถึงอุปสงค์ในภาคพลังงานหมุนเวียน และการประยุกต์ผลิตภัณฑ์เข้ากับไฟฟ้า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และศูนย์ข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ทำให้มาเลเซียเป็นที่ตั้งของโรงงานบรรจุและประกอบชิปที่ใหญ่ที่สุดในโลก เอ็ง ก๊ก เตียง (Ng Kok Tiong) รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการ อินฟินีออน แห่งเขตกูลิม กล่าวว่า อินฟินีออน มีพนักงานประมาณ 15,000 คนในมาเลเซีย มากกว่าที่ใดในโลก ซึ่งรวมถึงบ้านเกิดของบริษัทที่เยอรมนี นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) เข้าร่วมงานด้วยโดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาล ในการดึงดูดการลงทุนด้านชิป รวมทั้งการพัฒนาแรงงานด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้น โดยกล่าวว่า “กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญ … เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราสามารถดึงดูดการลงทุนระดับโลกได้”

ในฐานะผู้นำตลาดด้านชิปควบคุมพลังงานไฟฟ้า (power chips) และชิปไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller chips) อินฟินีออนกำลังจับตามองเซมิคอนดักเตอร์ช่องว่างแถบพลังงานกว้าง (wide-bandgap semiconductors) หลายประเภทสำหรับโซลูชั่นพลังงานแห่งยุคถัดไป ซึ่งรวมถึงประเภทที่สร้างบนซิลิคอนคาร์ไบด์และแกลเลียมไนไตรต์ (GaN)

เซมิคอนดักเตอร์ช่องว่างแถบพลังงานกว้างมีความทนทานต่ออุณหภูมิและแรงดันไฟฟ้าสูงกว่าชิปที่สร้างจากเวเฟอร์ซิลิคอนทั่วไป ชิปซิลิคอนคาร์ไบด์มีความสำคัญสำหรับการใช้งานต่าง ๆ เช่น การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากำลังสูง และโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ชิปแกลเลียมไนไตรต์ มีความหนาแน่นของพลังงานสูง สามารถใช้ในการผลิตเครื่องชาร์จและหัวแปลงให้มีขนาดเล็กลงได้

ราช กุมาร (Raj Kumar) รองประธานอาวุโสฝ่ายเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาของอินฟินีออนที่กูลิมกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เมื่อเทียบกับโซลูชั่นพลังงานที่ใช้ซิลิคอนเป็นหลัก ซิลิคอนคาร์ไบด์สามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานเป็นสองเท่าได้ในขนาดเท่าเดิม หรือใส่พลังงานเท่าเดิมในขนาดเพียงครึ่งเดียวก็ได้เช่นกัน”

โยเชน ฮาเนเบ็ก (Jochen Hanebeck) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของอินฟินีออนเผยว่า การผลิตสามารถเริ่มต้นก่อนกำหนดได้ “หลายเดือน”  ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการเชื่อมต่อทางไกลระหว่างโรงงานแห่งใหม่เข้ากับศูนย์พัฒนาและการผลิตหลักของบริษัทที่เมืองฟิลลัก (Villach) ประเทศออสเตรีย

สำหรับปีงบประมาณ 2024 ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน อินฟินีออนคาดการณ์รายรับอย่างน้อย 600 ล้านยูโร (23,000 ล้านบาท) จากโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับซิลิคอนคาร์ไบด์

อินฟินีออนกล่าวว่าจะใช้เงินเพิ่มอีก 5 พันล้านยูโร (1.9 แสนล้านบาท) สำหรับเฟสที่สองของโรงงาน ในกูลิม ซึ่งชำระเงินล่วงหน้าแล้ว 1 พันล้านยูโร (38,000 ล้านบาท) และอีกประมาณ 5 พันล้านยูโร ในความตกลงการออกแบบเพื่อผลิตขายปริมาณมาก (design win) กับทางลูกค้า

ความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่มีพลังงานสูงขึ้นและใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น กำลังผลักดันอุปสงค์ต่ออุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ช่องว่างแถบพลังงานกว้างในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน 5G และตัวแปลงพลังงาน

ตามรายงานของบริษัทวิจัย การ์ตเนอร์ (Gartner) ตลาดเซมิคอนดักเตอร์ช่องว่างแถบพลังงานกว้างคาดว่าจะสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 4.6 แสนล้าน) ภายในปี 2028 โดยขยายตัวอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ 29.9% ระหว่างปี 2023 ถึง 2028

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในอุตสาหกรรมกล่าวว่า ชิปซิลิคอนคาร์ไบด์สำหรับโซลูชั่นด้านพลังงานยังคงมีราคาแพงกว่าโซลูชั่นที่ใช้ซิลิคอนสามถึงสี่เท่า เพราะเป็นวัสดุเปราะและยากต่อการจัดการ ทั้งยังจำเป็นต้องผลิตในกระบวนการเดียว ที่อุณหภูมิสูงถึง 2,000 องศาเซลเซียส

ชิปซิลิคอนคาร์ไบด์ที่ล้ำหน้าที่สุดในอุตสาหกรรมเพิ่งเริ่มเปลี่ยนไปใช้แผ่นซับสเตรตขนาด 8 นิ้ว ในขณะที่โปรเซสเซอร์ที่ล้ำหน้าที่สุด ชิปถูกสร้างขึ้นบนเวเฟอร์ซับสเตรตขนาด 12 นิ้วแล้ว ซึ่งแผ่นซิลิกอนซับสเตรตคือแผ่นเวเฟอร์ที่ผ่านกระบวนการเตรียมแผ่นแล้วมีลักษณะเรียบและมันวาว

แผนการขยายตัวของบริษัทต่าง ๆ เช่น อินฟินีออนส่งผลดีต่อมาเลเซียเนื่องจากมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน

มาเลเซียรายงานการลงทุนในปี 2023 ว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 329,500 ล้านริงกิต (2.5 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นมากกว่า 24% จากปี 2022 นอกจากนี้ ยังดึงดูดการลงทุนในศูนย์ข้อมูล ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ร้อนแรงที่สุดอีกด้วย

ตามข้อมูลของหน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย (MIDA) มากกว่า 45% ของการลงทุนในปี 2023 เกี่ยวข้องกับภาคการไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมข้อมูลและภาคการสื่อสาร

คีต ยัพ (Keat Yap) หัวหน้าร่วมฝ่ายปฏิบัติการและประสิทธิภาพการทำงานประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเคียร์เน่ (Kearney) บริษัทที่ปรึกษาจากสหรัฐ กล่าวว่ามาเลเซียมีแนวโน้มที่จะขยายบทบาทของตัวเองในห่วงโซ่อุปทานชิปมากขึ้น

มาเลเซียดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก และยังจูงใจกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถ มีระบบนิเวศและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ดี อย่างไรก็ตาม การแข่งขันดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นเข้มข้นมาก

ยัพกล่าวว่า “ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น มาเลเซียต้องเผชิญกับแรงกดดันในการบรรลุเป้าหมายอันทะเยอทะยาน ขณะเดียวกันก็คว้าโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ เพื่อรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยรวมแล้ว นี่เป็นการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น มาเลเซียยังต้องใช้เวลาอีกสองถึงสามปีข้างหน้า เพื่อเสริมสร้างสถานะให้มั่นคงในฐานะศูนย์กลางเซมิคอนดักเตอร์ที่โดดเด่นในระดับโลก”

Exit mobile version